วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

ประวัติ การก่อตั้งเมืองสนม

ประวัติ การก่อตั้งเมืองสนม
( อำเภอสนม เขตจังหวัดสุรินทร์ )

บ้านสนมเดิมเป็นป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและสัตว์ป่าน้อยใหญ่นานาชนิด ทางทิศตะวันออกมีหนองน้ำขนาดใหญ่ มีกอไผ่ป่าขึ้นล้อมรอบ น้ำในหนองใสสะอาดมีปลานานาชนิด มีตะพาบน้ำและเต่าเป็นจำนวนมาก หนองน้ำแห่งนี้มีแผ่นดินบาง ๆอยู่บริเวณ ผิวน้ำ มีป่าหญ้าปล้องขื้นเขียวขจี ซึ่งชาวอิสานเรียกว่า “ สนม ” จึงเรียกชื่อหนองแห่งนี้ว่า “ หนองสนม “ จึงเป็นที่มาของชื่อ บ้านสนม และอำเภอสนมในเวลาต่อมา


ทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีหนองน้ำขนาดใกล้เคียงกันเรียกชื่อว่าหนองตาดและหนองสิม แต่ละหนองอยู่ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณลึกเข้ามาจากหนองสนมประมาณ 200 เมตร มีปราสาทโบราณขนาดกว้างประมาณ 20 เมตรยาว 40 เมตร สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย สูงประมาณ 5 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อยู่ในสภาพทรุดโทรม ท่ามกลางแมกไม้ใหญ่น้อยและเถาวัลย์ บริเวณรอบมีสระน้ำเรียงรายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการ ขุดพบพระพุทธรูป เทวรูป ต่าง ๆ ปราสาทแห่งนี้น่าจะสร้างสมัยเดียวกับปราสาทบ้านจอมพระ อำเภอจอมพระ เป็นศิลปะในพุทธศานาลัทธิมหายาน อันเจริญรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้คงสร้างประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 อนึ่งกรมศิลปากรมิได้มีการสำรวจขุดแต่งแต่อย่างใดเพราะมีการรื้อเสียก่อนแล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เหลือเพียงตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาเท่านั้น ปัจจุบันเหลือเพียงร่อยรอยของหลักฐานเล็กน้อย เพราะบริเวณนี้ได้สร้างวัดขึ้นเรียกว่า “ วัดธาตุ “ และ ได้รื้อปราสาทลงมา ใช้ศิลาแลงวางเป็นฐานก่อสร้างโบสถ์เมื่อ ปี 2478 ปัจจุบันเทวรูปยังมีปรากฏอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ ในบริเวณวัดธาตุแห่งนี้



ภาพบน : รูปปั้น สมัยก่อนการก่อตั้งเมืองสนม และได้ตั้งชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับ
ผู้ก่อตั้งเมืองสนมในยุคเจนเนอเรชั่นที่ 2 ตามชื่อเจ้าเมืองนามว่า "ท้าวอุทา หรือท้าวอุดทา หลวงจินดารักษ์"
ถ่ายเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 ณ วัดธาตุ อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์





ศรีนครเตาท้าวเธอ
ถ่ายเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 ณ สวนศรีนครเตาท้าวเธอ พ.ศ. ๒๕๓๐ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์


พ.ศ. 2425 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2411 – 2453) ฝ่ายเมืองรัตนบุรี (ขณะนั้นขึ้นต่อเมืองพิมาย) ได้เกิดวิวาทกัน หลวงจินดานุรักษ์ (ท้าวอุทา หรือท้าวอุดทา หลวงจินดารักษ์)) บุตรพระศรีนครชัย เจ้าเมืองรัตนบุรีคนเก่า ได้นำบัญชีหางว่าว กรมการขุนหมื่นตัวเลขของพระศรีนครชัย ผู้เป็นบิดา รวม 500 คนเศษ ซึ่งเป็นราษฎรจากบ้านหวาย (รัตนบุรี) บ้านผือ บ้านไผ่ บ้านช่อง บ้าน นาวอง บ้านแก บ้านจ้อ บ้านทับ บ้านโพธิ์ ไปตั้งอยู่ที่บ้านหนองสนม แขวงเมืองรัตนบุรี ได้ไปร้องทุกข์ ณ ศาลาว่าการลูกขุน กล่าวหาว่า พระศรีนครชัยเจ้าเมืองรัตนบุรีคนเก่ากดขี่ข่มเหงได้รับความเดือดร้อน จะขอสมัครไปขึ้นกับเมืองสุรินทร์ จึงมีตราโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) รับหลวงจินดานุรักษ์ และขุนหมื่นตัวเลขให้ทำราชการขึ้นกับเมืองสุรินทร์ ตามใจสมัคร พระยาสุรินทร์ (ม่วง) จึงตั้งให้หลวงจินดานุรักษ์เป็นที่พระภักดีพัฒนากร ควบคุมสำมะโนครัวตัวเลขเสียส่วยขึ้นกับเมืองสุรินทร์ ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองสนม และต่อมาเมืองสุรินทร์ได้มีใบบอกขอตั้งบ้านหนองสนมเป็นเมืองสนม


ครั้น พ.ศ. 2435 เมืองรัตนบุรีกล่าวโทษเมืองสุรินทร์ว่าแย่งชิงดินแดน มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2425 หลวงจินดานุรักษ์บุตรพระศรีนครชัยเจ้าเมือง รัตนบุรีคนเก่า กับขุนหมื่นตัวไพร่ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านหนองสนม แขวงเมืองรัตนบุรีร่วม 500 คนเศษ ร้องสมัครไปขึ้นต่อเมืองสุรินทร์ และเมืองสุรินทร์ได้ร้องขอหักโอนคนเหล่านั้น ตามท้องตราประกาศเดิม ซึ่งอนุญาตให้ได้อยู่ตามใจสมัครนั้น และต่อมาเมืองสุรินทร์ไปขอตั้งบ้านหนองสนมเป็นเมืองสนม ขึ้น ต่อมาเมืองสุรินทร์ได้มีใบบอก ถึงพระยามหาอำมาตย์ฯ ( หรุ่น ศรีเพ็ญ ) ซึ่งเป็นข้าหลวงลาวกาวข้าหลวงใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ (ต่อมาเรียกว่ามณฑลอีสาน) อยู่ในเวลานั้นให้ไต่สวนแล้ว พระยามหาอำมาตย์ ( หรุ่น ศรีเพ็ญ ) จะได้ไต่สวนหรือประการใด ก็หาได้บอกมากรุงเทพฯ ไม่ การก็ติดอยู่เพียงนั้น และบ้านหนองสนมก็ยังมิได้โปรดฯ ให้ยกขึ้นเมืองสุรินทร์ แล้วจึงให้ข้าหลวงปักปันเขตแดนสุรินทร์กับรัตนบุรี ต่อไป ส่วนคนที่อยู่ในเขตบ้านหนองสนมเท่าใด ก็ให้เป็นคนสังกัดเมืองรัตนบุรีตามเดิม จึงเป็นอันว่าบ้านหนองสนม ยังคงอยู่ในอาณาเขตของเมืองรัตนบุรีต่อไป (หลักศิลาปักเขตแดนระหว่างเมืองสุรินทร์กับเมืองรัตนบุรียังปรากฏอยู่ที่บ้านหนองคู ตำบลโพนโก และที่วัดแท่นศิลา บ้านแท่น ตำบลนานวน ในปัจจุบัน)


แม้จะไม่ได้ขึ้นต่อเมืองสุรินทร์ แต่พระภักดีพัฒนากร ก็ไม่ยอมขึ้นต่อเมืองรัตนบุรี จึงได้ขอไปทำราชการกับเจ้าเมืองสุรินทร์ อยู่จนถึงแก่กรรม ลูกหลานซึ่งประกอบไปด้วย แม่เขียน แม่จูม แม่เปี่ยม และลูกเขยคือนายเพ็ชร์ สวยสะอาด ได้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ ณ วัดบึง บ้านสนม ตำบลสนม เมื่อปี 2480โดยจารึกว่า “ เจดีย์บรรจุอัฐิ พระภักดีพิพัฒยากรณ์ เจ้าเมืองนครสนม ”


ในระหว่างปี 2425 – 2435 พระภักดีพัฒนากร ได้ทำราชการขึ้นต่อเมืองสุรินทร์ โดยมีที่ทำการอยู่ทางทิศตะวันตกวัดธาตุ (ปัจจุบันเป็นที่ดินบ้านคุณแม่วิไลวรรณ กำลังกล้า) เป็นอาคารชั้นเดียวมุงหญ้าคาซึ่งเป็นที่ดินของของหลวงเมืองในสมัยนั้น



คุณแม่วิไลวรรณ กำลังกล้า
ถ่ายเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 ณ บ้านสนม อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์

นอกจาก พระภักดีพัฒนากร หรือพระพิพัตรภักดี หรือพระภักดีพัฒยากรณ์ เจ้าเมือง แล้วยังแต่งตั้งคณะกรรมการเมือง อีกมากเป็นต้นว่า หลวงเมือง (นายคำมี) หลวงจำเริญ (นายสา) หลวงยกกะบัตร( นายเหลา) หลวงปรีชา หลวงวัง หลวงพรหม ขุนเสมอใจ ขุนจำนงค์ ขุนอักขระ มหาราช บุตรราช เสหราช ขุนอาสา ขุนระวัง ขุนพิทักษ์ ขุนไชย ขุนวรราช ซึ่งบุคคลเหล่านี้คือตระกูลของชาวสนม ในเวลาต่อมาเป็นต้น
บรรดาท่าน ขุน หลวงทั้งหลาย มีหน้าที่คอยรับคำร้องทุกข์ของชาวบ้าน นำชาวบ้านสร้างทำนบหรือฝายเก็บกักน้ำใว้ใช้ในฤดูแล้ง เป็นต้น เวลาที่เหลือก็ทำอาชีพของตน เช่น สานแห สานครุ สานตะกร้า สานลอบ ไซ คนโบราณจึงเรียกว่า ” ลงสาน ” ไม่ใช่ศาลตัดสินคดีความแต่อย่างใด.............

ในระหว่างพ.ศ. 2437 – 2451 ได้มีการปฏิรูปการปกครองใหม่บ้านเมืองใหม่ บ้านหนองสนมจึงเป็นตำบลสนม อำเภอรัตนบุรี ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2514 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะตำบลสนม เป็นกิ่งอำเภอสนม โดยมีท้องที่ 5 ตำบลคือ ตำบลสนม ตำบลโพนโก ตำบลแคน ตำบลนานวน และตำบลหนองระฆัง มีหมู่บ้านจำนวน 60 หมู่บ้าน และได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นอำเภอสนมเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2520


ในปี พ.ศ. 2520 ได้ตั้งตำบลหัวงัวเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตำบล โดยแยกส่วนปกครองจากตำบลนานวน และปี พ.ศ. 2535 ได้ตั้งตำบลหนองอียอขึ้นอีกหนึ่งตำบล โดยแยกส่วนปกครองจากตำบลหนองระฆัง จนถึงปัจจุบันมี 7 ตำบล 79 หมู่บ้าน




ภาพ : ตราประทับในสมัยพระภักดีพัฒยากรณ์ เจ้าเมืองสนม ใช้ในส่วนราชการ
ถ่ายเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2553 ณ บ้านคุณแม่วิไลวรรณ กำลังกล้า




หลักฐานทางประวัติศาสตร์ "เมืองสนม" ...คลิกที่นี่

พระธาตุพระภักดีพัฒยากรณ์ เจ้าเมืองสนม

เอกสารประกอบการการค้นคว้า
1. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ 14 5 ธันวาคม 2542
2.สิงหะ ชโยจ พงษาวดารเมืองสุรินทร์
3. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุรินทร์
4.หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลฉลองอายุ 80 ปี พรรษา 60 พระครูบุญสิริโสภณ เจ้าคณะอำเภอสนม 19 เมษายน 2543

เรียบเรียงโดย นายสุนทร กิ่งมาลา (อดีตกำนันตำบลสนม)







....................................................................................................


ประวัติจังหวัดสุรินทร์

กว่า 2,000 ปีมาแล้ว ชุมชนโบราณยุคโลหะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้ทิ้งร่องรอยคูน้ำกำแพงเมือง ภาชนะดินเผา โครงกระดูก และโบราณวัตถุอื่นๆ ไว้ในบริเวณ อ. เมืองสุรินทร์ และ อ. ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ สอดคล้องกับจดหมายเหตุของจีน ซึ่งได้ระบุไว้ว่า บริเวณแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีอาณาจักรขนาดใหญ่ชื่อว่าฟูนัน โดยมีชาวละว้าปกครอง ต่อมาในราวปี พ.ศ. 1100 ละว้าเริ่มเสื่อมอำนาจลง ในขณะเดียวกันขอมกำลังเรืองอำนาจแผ่อิทธิพลเข้าในภูมิภาคนี้ โดยในสมัยพระเจ้ามเหนทรวรมันตั้งอาณาจักรเจนละขึ้น โดยมีเมืองสุรินทร์เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญก่อนถึงเมืองพิมายซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองในครั้งนั้น

ก่อนปี พ.ศ. 1200 อาณาจักรเจนละได้ย้ายเมืองหลวงจากบริเวณวัดภู จำปาสัก มาที่บริเวณที่ตั้งเมืองสุรินทร์ต่อเนืองเมืองพิมายในโคราช ดังปรากฏหลักฐานว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ในราว พ.ศ. 1623-1650 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองพิมายขึ้นใหม่ทับซากอาคารโบราณ ซึ่งสันนิฐานว่าเป็นเมืองเดิมของอาราจักรเจนละ

ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาสนสถานในรูปแบบของปราสาทหินทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก กระจายอยู่ไปในดินแดนอีสานใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างนครวัดกับเมืองพิมาย (ในโคราช) โดยผ่านช้องปราสาทตาเมือน ชายแดนสุรินทร์ – กัมพูชา ที่มีโบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเหมือน หลงเหลิอร่องรอยความยิ่งใหญ่ในอดีต

หลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ความรุ่งเรืองของอาณาจักรของขอมเริ่มเสื่อมสลายลง เหลืองเพียงชนเผ่าพื้นเมืองที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ จวบจนกระทั่งช่วงปลายอยุธยาจึงมีบันทึกเรื่องราวดินแดน สุรินทร์-ศรีสะเกษขึ้นอีกครั้ง โดยในปี พ.ศ.2260 ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย มีกลุ่มคนชาวกูยหรือส่วยได้ย้ายถิ่นฐานจากเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาสักในลาวเข้ามาอยู่แถบเมืองสุรินทร์และศรีสะเกษ กระจายกันอยู่เป็นกลุ่มๆ ได้แก่ กลุ่มนายเชียงปุม ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองที่ เขต อ. เมืองสุรินทร์ กลุ่มนายเซียงสี หรือตากะอาม ตั้งอยู่ที่บ้านกุดหวาย อ.รัตนบุรี กลุ่มนายเซียงสี ตั้งยอู่ที่เมืองลิง เขต อ. จอมพระ กลุ่มนายเซียงมะ ตั้งอยู่บ้านอัจจะปะนึง ในเขต อ. สังขะ กลุ่มนายเซียงไชย ตั้งอยุ่ที่บ้านกุดปะไท เขต อ.ศีขภูมิ จ.สุรินทร์ในปัจจุบัน กลุ่มนายเวียงขัน หรือตากะจะ ตั้งอยู่ที่ อ.เมืองศรีสะเกษปัจจุบัน กลุ่มชาวกูยทั้งหมดนี้มีความสามารถในการจับช้างและเลี้ยงช้างสืบทอดมาจนปัจจุบัน

ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2302 ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เกิดเหตุช้างเผือกหนีจากกรุงศรีอยุธยามุ่งไปทางฝั่งแม่น้ำมูลด้านใต้ กลุ่มชาวกุยดังกล่าวซึ่งมีความสามารถในการจับช้าง จึงอาสาจับช้างเผือกได้สำเร็จ พระเจ้าเอกทัศน์จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์แต่งตั้งหัวหน้ากลุ่มชายกูยทั้งหกคน ในจำนวนนี้มีชาวกูยที่เป็นผู้ก่อสร้างเมืองสุรินทร์-ศรีสะเกษในเวลาต่อมาคือเชียงปุม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหลวงสุรินทร์ภักดี เจ้าเมืองประทายสมันต์ (บ้านคูปะทาย) นายตากะจะหรือเชียงขันให้เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ (เป็นที่ตั้งของ อ.เมืองศรีสะเกษ) สุรินทร์-ศรีสะเกษจึงมีประวัติการตั้งเมืองในเหตุการณ์เดียวกัน

ในสมันต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์เป็นชื่อเมือง “สุรินทร์” ตามชื่อบรรดาศักดิ์เจ้าเมือง “พระยาสุริทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) “ และได้ดินแดนเพิ่มจากเมืองพิมายบางส่วน จนต่อมาในปี พ.ศ. 2451 มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของประเทศ ได้รวบรวมเอาเมืองสังขะเข้ากันกับเมืองสุรินทร์ เป็น จังหวัดสุรินทร์จนถึงปัจจุบัน




ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
1. หลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองสนม
2. ตำนานเรื่องเมืองสนม

ไม่มีความคิดเห็น: