วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

วัดธาตุ ตำบลสนม อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์

ประวัติวัดธาตุ
ตำบลสนม อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์
นายสุนทร กิ่งมาลา อดีตกำนันตำบลสนม เรียบเรียง


วัดธาตุสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อสร้างประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๗ สมัยหลวงจินดานุรักษ์ (ท้าวอุดทา/ท้าวอุทา) ผู้ก่อสร้างบ้านสนม บริเวณที่ก่อสร้างวัด เดิมมีปราสาทโบราณ คาดว่าสร้างสมัยอาณาจักรขอมเรืองอำนาจประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงนับถือศาสนาพุทธลัทธิมหายาน พระองค์โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง และสร้าง อโรคยาศาล หรือสถานพยาบาล ขึ้นในชุมชนต่างๆ มากมาย ปราสาทแห่งนี้มีขนาดโดยประมาณ กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๒๕ เมตร สูงประมาณ ๕ เมตร สร้างด้วยศิลาแลง และหินทราย อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม เดิมมีต้นไม้ขนาดใหญ่ ประมาณ ๒ - ๓ โอบ จำนวนมาก ได้แก่ ประดู่ ตะแบก ยาง ตะคร้อ ตาเสือ คำไก่ ซึ่งปราสาทหลังนี้มองจากทุ่งนา นอกบ้านเห็นเด่นชัด บริเวณรอบๆ ปราสาทมีสระน้ำเรียงรายทั้งสี่ด้าน อดีตเคยขุดได้พระพุทธรูปปางต่างๆ และเทวรูป ในบริเวณปราสาท ชื่อวัดธาตุ คือ “ปราสาท” ชาวสนมเรียกว่า “ธาตุ” หรือเรียกว่า “โนนธาตุ” ทางวัดได้รื้อปราสาทลง และก่อสร้างอุโบสถแทน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ปัจจุบันวัดธาตุมีพื้นที่ ๘ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา


นายสุนทร กิ่งมาลา (อดีตกำนันตำบลสนม)
ถ่ายเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553

ลำดับเจ้าอาวาสวัดธาตุ
๑. สำเร็จลุน หรืออาจารย์ลุน พ.ศ. ๒๔๒๗ - ๒๔๓๕
๒. ครูโคตร หรือพระครูโคตร พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๓๙
๓. ครูพรมมา หรือพระครูพรมมา พ.ศ. ๒๔๓๙ – ๒๔๔๗
๔. อาจารย์ซาสอน หรือ หัวซาสอน พ.ศ. ๒๔๔๗ – ๒๔๕๘
๕. อาจารย์ขัน หรือพระครูขัน พ.ศ. ๒๔๕๘ – ๒๔๖๓
๖. อาจารย์โสม หรือพระอาจารย์โสม พ.ศ. ๒๔๖๓ – ๒๔๖๘
๗. อาจารย์สีโท หรือพระสีโท พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๓
๘. หลวงพ่อศรีธาตุ หรืออุปัชฌาย์ศรีธาตุ พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๔๘๕
๙. หลวงพ่อเพิ่ม/อาจารย์คำ/อาจารย์บุญมา พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๙๐
๑๐. พระครูบุญศิริโสภณ หรือหลวงพ่อบุญศรี ปารคามี พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๕๔๙
๑๑. พระครูสิริธรรมานุโยค หรือหลวงพ่อสูนย์ ถามพโล พ.ศ. ๒๕๕๐ – ปัจจุบัน


หมายเหตุ : ในอดีตการปกครองคณะสงฆ์ จะเลียนแบบธรรมเนียมการปกครองของล้านช้าง (ลาว) โดยจำแนกสมณศักดิ์เป็น ๖ ชั้น คือ สำเร็จ ซา คู ฝ่าย ด้าน และหลักคำ

“สำเร็จ หรือสมเด็จ” หมายถึงเรียนจบหลักสูตรอันเป็นบุพบทภาคเบื้องต้น คือ เรียนสวดมนต์ และมูลกัจจายนะจบ เช่น “สำเร็จจัวคำ” หรือ “เจ้าหัวสำเร็จบุญมา”

“ซา” หมายถึง ผู้ที่ผ่านการเรียนขั้นสำเร็จ แล้วยังเรียนสูงขึ้นจนแตกฉานในประไตรปิฎก มีคุณค่าที่เฉลิมพระศาสนาได้ เช่น “ซาจัวแก้ว” “เจ้าหัวซาคูณ” เป็นต้น

“คู หรือครู” เป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ อย่าง คือ พ้นจากนวกภูมิ และมัชฌิมภูมิ เป็นเถรภูมิแล้ว มีวัยวุฒิ และเป็นพหูสูต เล่าเรียนมามาก สามารถสอนอรรถ สอนธรรม แก่กุลบุตร ทั้งเป็น “สำเร็จ” และ “ซา” มาแล้ว

ต่อมาชาวบ้านเป็นผู้ยกย่องไม่มีเกณฑ์เลือกสรร แต่พิจารณาพระที่เหมาะสมเป็น “สำเร็จ” “ซา” หรือ “คู”

เดิมเรียกสามเณรว่า “จัว” เมื่ออุปสมบท (บวชพระ) เรียกว่า “เจ้าหัว” หรือ “เจ้าหม่อม”









































































































ดู วัดธาตุ ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า



ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง : ถวายภัตตาหารเพล วัดธาตุ บ้านสนม
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง : ทำบุญถวายหอระฆัง วัดธาตุ
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง : ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา 2553

ไม่มีความคิดเห็น: