บุญข้าวสาก (ภาษากลางเรียก "สลากพัฒน์") ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10) ของทุกปี เป็นประเพณีของชาวอีสานบ้านสนม ต.สนม อ.สนม จ.สุรินทร์ เชื่อกันว่า...เป็นวันทำบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ให้มีโอกาสได้มารับส่วนบุญส่วนกุศล ที่ลูกหลานนำมาให้ โดยลูกหลานจะจัดเตรียมห่อข้าวห่อน้ำเรียกรวมกันว่า "ห่อข้าวสาก" มาร่วมกันทำพิธีที่วัดในเช้าของวันบุญข้าวสาก
เล่ากล่าวตามกาลสมัยก่อน ถึงอีกด้านแห่งความเชื่อว่า... ในวันเพ็ญเดือนสิบของทุกปี เป็นวันที่ยมบาล อนุญาตให้ผู้ที่ตายแล้ว และยังวนเวียนอยู่ในโลกโอปปาติกะที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิด ได้มีโอกาสออกมารับส่วนบุญ และข้าวปลาอาหาร ที่ลูกหลานเตรียมมาทำบุญให้ในวันบุญข้าวสากนี้
"วิญญาณ" ที่ลูกหลานไม่ได้ทำบุญมาให้กินในว้ันบุญข้าวสาก ก็ต้องไปรอรับส่วนบุญ และอาหารจากญาติของคนอื่นที่ทำบุญเผื่อแผ่แก่วิญญาณนั้น (วิญญาณที่ลูกหลานไม่ได้ทำบุญไปให้ เรียกว่า "วิญญาณเร่ร่อน") วิญญาณเร่ร่อนนั้นมีความยากลำบากในการรับส่วนบุญส่วนอาหาร เนื่องจากต้องแย่งกันกับวิญญาณเร่ร่อนอีกหลายๆ ตนด้วยกัน หากวิญญาณเร่ร่อนนั้นแย่งไม่ได้ หมายถึงไม่ได้บุญไม่ได้กินอาหาร หรือกินไม่อิ่ม ก็จะสาปแช่งลูกหลาน ที่ไม่ได้ทำบุญไปให้ ลูกหลานก็จะพานพบกับความอัปมงคล และหาความสุขเสียมิได้
กิจกรรมในวันทำพิธี "บุญข้าวสาก"
ลูกหลานเตรียมสำรับ คือ "ห่อข้าวสาก" เพื่อเข้า่ร่วมทำบุญพิธีที่วัด และพระสงฆ์เท่านั้นที่จะทำหน้าที่ในพิธีส่งห่อข้าวสากนี้ไปให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไดั และหลายคนมีจิตกุศลต่อวิญญาณเร่ร่อน ก็จะทำห่อข้าวสากขนาดเล็กเผื่อติดไปทำบุญให้แก่วิญญาณเร่ร่อนด้วย เล่าต่อกันมาว่า... วิญญาณเร่ร่อนเหล่านั้นจะรอรับส่วนบุญ และอาหารอยู่ตามร่มไม้ชายคาอาคารทั่วไป เวลาให้บุญให้อาหารควรเจาะจงสถานที่ให้ชัดเจน และเมื่อเสร็จพิธีทำบุญข้าวสากแล้ว ชาวบ้านก็จะแบ่งข้าวสากบางส่วน เพื่อไปทำบุญถวายให้กับ "แฮกนา" ในบริเวณผืนนาของตน เพื่อเป็นการขอบคุณ "แฮกนา" ที่ทำให้มีอู่ข้าวอู่น้ำในการทำมาหาเลี้ยงชีพ และปกปักรักษาไร่นา ผืนนานี้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป
ห่อข้าวสาก
จากที่สังเกตในห่อข้าวสาก พบว่า...ทุกห่อจะมีสิ่งละอันพันละน้อยที่เหมือนกัน ได้แก่ ข้าวเหนียวนึ่งสุก, ธูป 1 ดอก บ้างก็ธูป 3 ดอก, ผลไม้, อาหารประเภทปิ้งย่าง, ข้าวต้มมัด, ดอกไม้หนึ่งคู่ และนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ ก็จะเป็นอาหารที่มีความแตกต่างกันออกไป คือ อาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบรับประทานเป็นพิเศษเมื่อครั้งสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ความหมายคือ อาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบรับประทานนั่นเอง
หมายเหตุ : "แฮกนา" เป็นเจ้าที่เจ้าทางประจำผืนนา จัดอยู่ในชั้นเทวดา หากใครคิดไม่ดีต่อผืนนานั้น ก็จะได้รับการลงโทษจาก "แฮกนา" ตามลำดับของโทษหนักและเบาต่างกัน
ภาพ : แสดงกิจกรรมการทำบุญข้าวสาก ณ วัดธาตุ บ้านสนม ต.สนม อ.สนม จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณบทความดี ๆ คัรบ
แสดงความคิดเห็น